(ชื่อตามเกิด:วิเวียน อิซาเบล สไวร์ Vivienne Isabel Swire)
วิเวียน เวสต์วูด (ชื่อตามเกิด:วิเวียน อิซาเบล สไวร์ Vivienne Isabel Swire) เกิดที่เมืองกลอสสอปเดล มณฑลดาร์บีเชียร์ เมื่อวันที่ 8 เมษายน ค.ศ. 1941 เธอเป็นดีไซเนอร์ชาวอังกฤษในแนวพังค์ร็อก และนิวเวฟ ผู้ทรงอิทธิพลในวงการแฟชั่นระดับโลก นับตั้งแต่ยุค 70 ในช่วงของยุค "พังค์" เสื้อผ้าของเธอถูกสวมใส่โดยวง ดนตรีพังค์ร็อกเซ็กซ์ พิสทอลส์ ที่โด่งดังที่สุดในยุค 70 มาจนถึงปัจจุบัน รายได้การขายเสื้อผ้าที่เธอดีไซน์ให้ลูกค้าผู้ดีมากกว่า 32 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 1998
ประวัติ
เธอเกิดที่เมืองกลอสสอปเดล มณฑลดาร์บีเชียร์ แม่ของเธอเป็นช่างทอผ้าในโรงงานท้องถิ่น ส่วนพ่อมาจากตระกูลช่างทำรองเท้า หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ครอบครัวของเธอได้ดำเนินกิจการไปรษณีย์ย่อยในหมู่บ้านทินทวิสเทิลจนถึงช่วงปลายทศวรรษ 1950 จึงย้ายเข้าไปอยู่ทางฝั่งตะวันเฉียงเหนือของกรุงลอนดอน
หลังจบโรงเรียนมัธยมของรัฐเมื่ออายุ 16 ปี วิเวียนได้ศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยสอนศิลปะแฮร์โรว์ โดยเลือกวิชาแฟชั่นและการทำเครื่องเงิน แต่หลังจากจบภาคการศึกษาแรก เธอก็ลาออกและมาทำงานในโรงงาน จากนั้นไม่นานเธอได้เข้ารับการฝึกอบรมเป็นครูโรงเรียนชั้นประถม และเริ่มการทำงานด้วยอาชีพรับจ้างสอนหนังสือนักเรียนประถม เมื่อปี 1962 วิเวียนได้แต่งงานกับ เดเรก เวสต์วูด สามีคนแรกและให้กำเนิดลูกชายคนแรกชื่อว่า เบนจามิน แต่ไม่นานเธอก็สละครอบครัวเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่กับมัลคอม แมคลาเลน นักเรียนศิลปะ (ผู้จัดการวง เซ็กซ์ พิสทอลส์)
ในปี ค.ศ.1970 ประเทศอังกฤษ กำลังตกอยู่ในสภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ ส่งผลให้เกิดอัตราคนว่างงานที่สูงที่สุดเป็นประวัติศาสตร์นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 หนุ่มสาวชนชั้นแรงงานจำนวนมากได้รับผลกระทบนี้ ทำให้วิเวียน เวตส์วูดเปิดกิจการเล็กๆ บนถนนคิงส์ในลอนดอนเป็นร้านขายเสื้อผ้าเก่าราคาถูก โดยใช้ชื่อว่า Let it Rock ซึ่งต่อมาก็ได้มีการเปลี่ยนชื่ออีกหลายครั้ง
ในปี 1972 วิเวียนเริ่มสนใจกลุ่มนักซิ่งมอเตอร์ไซต์จึงเปลี่ยนชื่อร้านเป็น “เร็วไปที่จะอยู่ เด็กไปที่จะตาย” ขายชุดหนัง เสื้อสูทแอฟฟาริกันสีจัดและเสื้อยืดแหกกฎ จากนั้นไม่นานเขาก็เปลี่ยนชื่อร้านอีกครั้ง และขายชุดรัดรูป กระโปรงหนังสั้น เสื้อยืดที่ขาดวิ่น ซึ่งนั่นถือเป็นจุดกำเนิดของแนวคิดแบบพังค์ และปัจจุบันนี้ เธอก็ยังคงมีร้านอยู่ที่นี่ภายใต้ชื่อว่า World’s End
ช่วงปลายทศวรรษ 70 วิเวียนถึงจุดอิ่มตัวกับเครื่องแต่งกายแบบพังค์ ช่วงนี้เองถือเป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยน เพราะเธอเริ่มศึกษาประวัติศาสตร์เพื่อหาแรงบันดาลใจ จึงปรับโฉมร้านอีกครั้งเรียกว่า“วิลด์สเอ็น” คือการทำแฟชั่นโชว์ 2 คอลเลคชั่นร่วมกันคือ “โรแมนติก ออฟ เดอะ ซี” และ“นอสเตลเจีย ออฟ มัด” สองคอลเลคชั่นนี้เองถือเป็นจุดเปิดอาชีพการเป็นแฟชั่นดีไซเนอร์อย่างแท้จริงของเวตส์วูด
ตัวอย่างผลงาน
ในปี 1983 เวตส์วูดเริ่มทำคอลเลคชั่น “วิตเชส” ด้วยการผสมแรงบันดาลใจจากของพื้นบ้านกับอุตสาหกรรมการผลิต ในปีค.ศ. 1983 นี้เองผลงานของเธอก็ได้ขึ้นแคทวอล์คที่ปารีส โดยเธอเป็นดีไซเนอร์ชาวอังกฤษคนที่ 2 ต่อจาก Mary Quant
ในปี 1984 เวตส์วูดสร้างชื่อเสียงอีกครั้งด้วยการนำเอารูปทรงรัดรูปของเสื้อผ้าสตรีสมัยก่อนมาตัดทอน และดัดแปลงในคอลเลคชั่น Minicrinis พร้อมรองเท้าส้นตึกอันเป็นสัญลักษณ์ของเธอ ในปี 1987 เวตส์วูดนำคอลเซ็ตมาดัดแปลงเป็นชุด
วิเวียนได้รับรางวัล British Designer ในปี 1990 และในปี 1992 เธอได้รับ รางวัล OBE
สำหรับความกระตือรือร้นในแฟชั่น ในปี 1998 เธอได้รับรางวัล จากราชินีอังกฤษสำหรับยอดการส่งออกที่มากที่สุดในรอบปี และในปี 2003 วิเวียน็เป็นที่รู้จักในนามของ Designer of the year
เธอได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ท่านผู้หญิง (Dame) จากราชสำนักอังกฤษตอบแทนการเป็นดีไซเนอร์ที่สร้างชื่อให้ประเทศ
เธอยังหันมาสร้างสรรค์ผลงานช่วยเหลือสังคม อย่างในช่วงปลายปี ค.ศ. 2005 เธอก็ได้เข้าร่วมโครงการเพื่อสิทธิมนุษยชนของอังกฤษ โดยเธอได้ออกแบบเสื้อยืดสำหรับเด็กและทารกที่สกรีนคำว่า I am not a terrorist, please don’t arrest me (หนูไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย ได้โปรดอย่ากักกันหนู) ออกวางขายในจำนวนจัดตัวละ 50 ปอนด์ โดยนำรายได้ทั้งหมดไปสนับสนุนองค์กรนี้
ภาพแสดงตัวอย่างผลงานของวิเวียน เวสต์วูด
(Vivienne Westwood)
งานออกแบบเสื้อผ้า
ผลงานที่ได้ขึ้นแคทวอร์ค
แนวความคิด
ยุคแรก วิเวียนแสดงออกถึงการต่อต้านสังคมระบบชนชั้นผู้ดี ผ่านงานดีไซน์ในหลากวิธี เช่น วัสดุนอกกรอบทั้งกระดูกไก่ ยางรถยนต์ หมุด โซ่ ภาพจากนิตยสารเก่า ฯลฯ ถูกนำมาสร้างเป็นเสื้อยืดดิบๆ ในสังเวียนแฟชั่นยุคแรกคือ วิเวียนไม่ได้ขายแค่เสื้อผ้าสไตล์พังก์ร็อก แต่สิ่งที่เธอพยายามเสนอขายแก่สังคมคือ ทัศนคติ (attitude) ที่ว่า "กล้าที่จะยืนนอกกรอบ แล้วบอกว่านี่คือสิ่งที่ฉันต้องการ"
วิเวียนยังใช้งานดีไซน์เป็นเครื่องมือสื่อสารทางเพศอย่างเข้มข้น ไม่ว่าจะเป็นการพิมพ์ลายหน้าอกผู้หญิงและรูปคาวบอยเปลือยบนเสื้อยืด หรือกระดุมรูปศิวลึงค์ รวมทั้งการเฉือนเสื้อผ้าให้ขาดวิ่นเห็นเนื้อหนังบริเวณหน้าอก และการนำชุดชั้นในมาใส่ด้านนอก ฯลฯ "งานของฉันคือการประจันหน้ากับสถาบันทางสังคม พยายามค้นหาว่าอิสรภาพของฉันเองอยู่ที่ไหน และทำอย่างไรเพื่อให้ได้มันมา" วิเวียนใช้เสื้อยืดลามกเป็นสื่อ เพื่อค้นหาจุดยืนและอิสรภาพที่คนชนชั้นกรรมาชีพเช่นเธอโหยหา
เสื้อผ้าของวิเวียนหลายชิ้นมักถูกวิจารณ์ว่า "ใส่จริงไม่ได้" ทั้งความแปลกของวัสดุ ลวดลาย สัดส่วนโครงสร้าง และแพตเทิร์นการตัดเย็บ แต่เธอมีมุมมองว่า "เสื้อผ้าของฉันอาจดูนอกลู่นอกทาง เพียงเพราะผู้คนไม่ได้คาดคิด แต่สิ่งที่ฉันทำก็เพื่อประณามความจืดชืดและความน่าเบื่อของแฟชั่นธรรมดาเหล่านั้น"
เทคนิคและคอนเซ็ปต์
ยุค 1980 เป็นช่วงที่วิเวียนได้แหกกฎการตัดเย็บชั้นสูงแบบอังกฤษ ขณะที่การตัดเย็บสไตล์ผู้ดีอังกฤษจะเน้นสัดส่วนที่เท่ากันทั้งสองข้าง แต่สำหรับวิเวียน สูทของเธออาจมีปกข้างหนึ่งใหญ่กว่าอีกข้าง แขนข้างหนึ่งยาวกว่าอีกข้างหรืออาจมีแขนข้างเดียว ชายเสื้อสูทไม่จำเป็นต้องยาวเท่ากัน หรือแขนเสื้อที่มักโค้งมนตรงไหล่ อาจกลายเป็นมีมุมเหลี่ยม แหลมออกมาจนเวลาใส่ต้องพับมุม คอเสื้ออาจกลายเป็นชายกระโปรง ขณะที่ชายเสื้ออาจถูกใส่แทนคอเสื้อ
หลังจากศึกษาประวัติศาสตร์วัฒนธรรมอังกฤษอย่างจริงจัง วิเวียนเริ่มนำภูมิปัญญาแฟชั่นดั้งเดิมมาใช้ เป็นเสมือน "กล้องส่องย้อนอดีตแห่งแฟชั่น" วิเวียนยังสนใจการทำเสื้อผ้าเข้ารูป ด้วยเชื่อว่า "เสื้อผ้าคือการเปลี่ยนรูปทรงของร่างกาย" เธอใช้เทคนิคเพิ่มลดตัดเฉือนเพื่อบิดเบือนข้อเท็จจริงทางสรีระผู้สวมใส่ให้ดูดีแบบอุดมคติ และทำให้สิ่งที่เธอคิดว่า ควรจะเป็นส่วนที่ดึงดูดใจที่สุด คือใบหน้าโดดเด่น
วงการแฟชั่นยังยกย่องวิเวียนเป็น "นักคิดทางแฟชั่น" เธอเป็นดีไซเนอร์คนแรกที่เข้าใจเรื่องแพตเทิร์นในมุมมอง 3 มิติอย่างแท้จริง เช่น การใช้ผ้าสี่เหลี่ยม 2 ผืนวางเหลื่อมเย็บติดกันให้เกิดเหลี่ยมแหลมขึ้น หรือการใช้ผ้าสามเหลี่ยมวางเฉียงเย็บติดกันเพื่อตัดเป็นชุดเข้ารูป หรือกระเป๋าเสื้อที่โค้งรอบตัวเสื้อจนเกิดมูฟเมนต์ทุกครั้งที่ผู้สวมใส่เคลื่อนไหว
อ้างอิง
http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B9%80%E0%B8%A7%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99_%E0%B9%80%E0%B8%A7%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B9%8C%E0%B8%A7%E0%B8%B9%E0%B8%94